สหรัฐอเมริกา
เป็นประเทศที่มีพลเมืองครอบครองอาวุธปืนมากที่สุดในโลก คิดเป็น 48% ของพลเมืองที่มีปืนไว้ในครอบครองกว่า 650 ล้านคนทั่วโลก องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เดินหน้าเก็บข้อมูลด้านความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากอาวุธปืนของสหรัฐฯ อย่าง Gun Violence Archive ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา มีการใช้ ‘ปืน’ เป็นอาวุธลงมือก่อเหตุมากกว่า 9,538 ครั้ง มีพลเมืองอเมริกันเสียชีวิตแล้วถึง 2,522 คน และได้รับบาดเจ็บสูงถึง 4,304 คน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 (ที่แก้ไขเพิ่มเติม) ที่ให้สิทธิพลเมืองสหรัฐฯ ในการครอบครองและพกพาอาวุธปืนได้ คนเหล่านี้จึงเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
ขั้นตอนการซื้ออาวุธปืน: โดยทั่วไปผู้ซื้อจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี (กรณีปืนยาวที่เด็กอเมริกันส่วนใหญ่มักใช้ล่าสัตว์) หรือ 21 ปี ผ่านการตรวจสอบประวัติด้านต่างๆ ไม่มีความผิดปกติทางจิต ไม่มีประวัติอาชญากรรม จึงจะมีสิทธิ์ซื้ออาวุธปืนได้ อีกทั้งยังจะต้องลงทะเบียนอาวุธปืน จึงจะสามารถเป็นเจ้าของอาวุธปืนนั้นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
เยเมน
ประเทศในแถบคาบสมุทรอาหรับที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการใช้ความรุนแรง ภัยสงคราม และต้องการความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเร่งด่วน รัฐบาลไม่สามารถประกันความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนและบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนมีลักษณะเข้าข่าย ‘รัฐล้มเหลว’ (Failed State) ซึ่งประเทศนี้นับเป็นหนึ่งในประเทศที่พลเมืองครอบครองปืนมากที่สุดในโลก เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ
ขั้นตอนการซื้ออาวุธปืน: ผู้ซื้อจะเดินทางไปยังตลาดซื้อขายปืนหรือจะสั่งซื้อปืนผ่านช่องทางออนไลน์ก็ได้ แต่กฎหมายของเยเมนระบุว่า ผู้ซื้อจะต้องซื้ออาวุธปืนกับร้านค้าหรือตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น และดำเนินการลงทะเบียนปืนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เรียบร้อย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วกฎหมายนี้ยังมีช่องโหว่อยู่อีกมาก
อังกฤษ
หนึ่งในประเทศแถบยุโรปที่เผชิญกับเหตุรุนแรงและการก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงปี 2017 ที่ผ่านมา แต่อาวุธที่ใช้ในการลงมือก่อเหตุส่วนใหญ่กลับเป็นมีด รถยนต์ และระเบิด จากสถิติของ Gun Control Network พบว่า นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์ที่อาวุธปืนถูกใช้เป็นอาวุธเพียง 154 ครั้งเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับสหรัฐฯ
ขั้นตอนการซื้ออาวุธปืน: ผู้ซื้อจะต้องเข้าร่วมกิจกรรม หรือเป็นสมาชิกของชมรมยิงปืน หรือจัดเตรียมเอกสารแสดงความประสงค์ที่จะซื้อปืน พร้อมระบุและสอบถามเกี่ยวกับรุ่นและชนิดของปืนที่ต้องการจะซื้อ อีกทั้งยังต้องจัดเตรียมที่เก็บอาวุธปืนที่เหมาะสมให้เรียบร้อย และจะต้องผ่านการตรวจเช็กประวัติ ซึ่งรวมถึงการสัมภาษณ์ที่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอาจขอตรวจเช็กสถานที่เก็บอาวุธที่บ้าน ก่อนที่จะมีสิทธิ์ซื้อปืนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
จีน
เป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพลเมืองส่วนใหญ่ของจีนจะไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาและครอบครองอาวุธปืนไว้ภายในที่พักอาศัย โดยจะต้องเก็บไว้ในสถานที่ที่ทางการกำหนดหรือได้รับอนุญาตเท่านั้น อัตราการเกิดเหตุกราดยิงจึงถือว่าน้อยมาก
ขั้นตอนการซื้ออาวุธปืน: ผู้ซื้อจะต้องระบุถึงเหตุผลจำเป็นที่จะต้องซื้ออาวุธปืนกับทางการให้ชัดเจนว่า ปืนกระบอกดังกล่าวจะถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด การกีฬา ล่าสัตว์ หรือป้องกันเหตุอันตรายในสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งจะต้องจัดเตรียมสถานที่เก็บปืนที่เหมาะสมและอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย โดยจะต้องสาธิตและอธิบายวิธีการใช้ประโยชน์จากตู้เซฟและสถานที่เก็บรักษาปืนกับทางเจ้าหน้าที่ รวมถึงจะต้องผ่านการตรวจเช็กประวัติอย่างละเอียด ซึ่งจะต้องไม่เป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต มีประวัติก่ออาชญากรรมหรือใช้ความรุนแรง ก่อนที่จะมีสิทธิ์ซื้อปืนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
เม็กซิโก
ประเทศทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการก่อเหตุอาชญากรรมและการค้ายาเสพติด เผยตัวเลขการคาดการณ์ว่า พลเมืองเม็กซิกันเป็นเจ้าของอาวุธปืนมากกว่า 15 ล้านกระบอก (2010) โดยในปี 2012 มีเพียง 3,118,592 กระบอกเท่านั้นที่ทำการขึ้นทะเบียนกับทางราชการ และมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนสูงถึง 13,505 คนในปี 2014
ขั้นตอนการซื้ออาวุธปืน: ผู้ซื้อจะต้องได้รับหนังสือรับรองจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เพื่อยืนยันว่าตนไม่มีประวัติการก่ออาชญากรรมมาก่อน พร้อมต้องยื่นจดหมายแสดงสถานะการทำงานและค่าตอบแทนที่ได้รับ โดยจะต้องผ่านการตรวจเช็กประวัติจากทางการเม็กซิโกและแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับอาวุธปืนที่เก็บสะสมไว้ในครอบครอง ซึ่งผู้ซื้อจะต้องเดินทางไปยังเมืองหลวงอย่างกรุงเม็กซิโกซิตี้ที่มีร้านขายอาวุธปืนที่ได้รับใบอนุญาตจากทางการเปิดให้บริการอยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐฯ ที่มีร้านขายปืนมากกว่า 50,000 แห่งทั่วประเทศ อีกทั้งผู้ซื้อจะต้องสแกนลายนิ้วมือก่อนจึงจะได้รับอนุญาตให้ซื้อปืนได้
แคนาดา
ประเทศที่มีผู้นำที่มีความสามารถและได้รับความนิยมจากมหาชนมากที่สุดคนหนึ่งของโลกอย่าง จัสติน ทรูโด เป็นอีกประเทศที่ขั้นตอนการขอซื้ออาวุธเริ่มมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จากการเปิดเผยข้อมูลของ gunpolicy.org พบว่า พลเมืองแคนาดาเป็นเจ้าของอาวุธปืนมากกว่า 8,619,328 กระบอก (2011) โดยสำนักข่าว CBC News รายงานว่า เฉพาะเดือนมกราคม ปี 2018 ที่ผ่านมา เกิดเหตุกราดยิงในกรุงออตตาวา เมืองหลวงของแคนาดามากถึง 13 ครั้ง ซึ่งคิดเป็น 40% ของเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นทั้งหมดตลอดปี 2013 เลยทีเดียว
ขั้นตอนการซื้ออาวุธปืน: ผู้ซื้อจะต้องแสดงหลักฐานว่าเคยเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมยิงปืนมาแล้ว หรือมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเป็นนักสะสมปืนที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยปืนบางชนิดผู้ซื้อจะต้องเคยผ่านการอบรมเรื่องความปลอดภัยในการใช้อาวุธปืน รวมถึงการสอบข้อเขียนและสอบปฏิบัติจากหน่วยงานที่ทางการรับรอง ที่สำคัญผู้ซื้อจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับรองจำนวน 2 คน โดยจะต้องเป็นผู้ที่เคยอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างน้อย 2 ปี และลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มแสดงความจำนง ผู้ซื้อจะยื่นเอกสารนั้นต่อทางการ พร้อมรอเป็นระยะเวลา 28 วันก่อนที่กระบวนการรับคำร้องจะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งจะต้องผ่าการตรวจเช็กประวัติอย่างละเอียด ก่อนที่จะสามารถซื้ออาวุธปืนได้ หากปืนดังกล่าวเป็นปืนพก จะต้องลงทะเบียนปืนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนที่จะนำปืนนั้นกลับไปยังที่พักอาศัย
ญี่ปุ่น
เป็นหนึ่งในประเทศที่มีมาตรการควบคุมและจำกัดอาวุธปืนที่รัดกุมมากที่สุดในโลก โดย Business Insider รายงานว่า ประเทศที่มีประชากรมากกว่า 127 ล้านคนแห่งนี้ แทบจะมีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนเฉลี่ยไม่เกิน 10 คนต่อปี และจากผลสำรวจของ smallarmssurvey.org เมื่อปี 2007 พบว่า การครอบครองอาวุธปืนของชาวญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำมาก (คิดเป็น 0.6 คน จากประชากรทั้งหมด 100 คน)
ผู้ซื้อจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมหรือเป็นสมาชิกสมาคมยิงปืน โดยจะต้องเข้าร่วมอบรมตลอด 1 วันเต็ม และสอบผ่านข้อเขียนเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืน ที่จะจัดสอบขึ้นเพียง 3 ครั้งต่อปีเท่านั้น ผู้ที่สอบผ่านจะต้องได้คะแนนมากกว่า 95% ขึ้นไป หลังจากนั้นจะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กระบบประสาทและจะต้องไม่มีประวัติเคยใช้สารเสพติด ก่อนที่จะยื่นแบบฟอร์มขอเข้าร่วมอบรมทักษะการใช้อาวุธปืนที่อาจจะจัดขึ้นในระยะเวลาอีก 1 เดือนข้างหน้า ก่อนที่จะเข้าสัมภาษณ์กับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงสาเหตุที่จำเป็นต้องซื้ออาวุธปืน
ไทย
ต้องบรรลุนิติภาวะ (มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) ผ่านการตรวจเช็กประวัติเบื้องต้น ไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาหรือมีคดีความติดตัว ไม่เป็นคนสติฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือเป็นบุคคลที่ไร้ความสามารถ ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง มีเงินหรือหลักทรัพย์และต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง (โดยจะต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ยื่นเรื่องขอซื้อปืนเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน)
หากผู้ที่ต้องการซื้อปืนอาศัยอยู่ภายในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ไปติดต่อดำเนินการที่ ศูนย์บริการประชาชน กรมการปกครอง ถนนนครสวรรค์ เขตดุสิต กรุงเทพฯ ถ้าหากผู้ซื้ออาศัยอยู่ต่างจังหวัด ให้ไปติดต่อดำเนินการที่ที่ว่าการอำเภอในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ (ตามทะเบียนบ้าน)
เอกสารและหลักฐานที่ต้องใช้ ในกรณีที่ผู้ซื้อเป็นประชาชนทั่วไปหรือเป็นข้าราชการบำนาญมีดังนี้ 1. บัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริงพร้อมสำเนา) หากผู้ซื้อเป็นข้าราชการพลเรือน ข้าราชการอื่นๆ หรือ พนักงานองค์กรของรัฐ, รัฐวิสาหกิจทหาร, ตำรวจ สามารถยื่นบัตรประจำตัวข้าราชการ, เจ้าหน้าที่ของรัฐ, รัฐวิสาหกิจ แทนได้
2. ทะเบียนบ้าน (ตัวจริงพร้อมสำเนา)
3. หนังสือรับรองความประพฤติจากหัวหน้างาน, ผู้บังคับบัญชา (ออกให้ไว้ไม่เกิน 6 เดือน)
4. หลักฐานประกอบอาชีพ เช่น ใบทะเบียนพาณิชย์ หนังสือรับรองตำแหน่งหน้าที่ เงินเดือน หากประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ ค้าขาย เร่ขายของ หรือรับเหมาต่างๆ โดยไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ ให้ใช้ถ่ายภาพกิจการนั้นๆ จำนวน 2-4 ภาพ
5. สำเนาบัตรสมาชิกกีฬายิงปืน ซึ่งเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 วัน เพื่อประกอบการพิจารณา (ถ้ามี)
6. สำเนาหลักทรัพย์ เช่น สำเนาโฉนดที่ดิน รายการเงินฝาก สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร หรือหลักฐานอื่นๆ
7. หลักฐานที่แสดงว่าผ่านการฝึกอบรมการใช้อาวุธปืน (ถ้ามี)
8. สำเนาใบ ป.4 ทุกใบ ที่อยู่ในความครอบครอง (ถ้ามี)
9. ค่าธรรมเนียม 1. ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน
1.1) ปืนยาวบรรจุปาก ปืนอัดลม ฉบับละ 100 บาท
1.2) ปืนชนิดอื่นๆ ฉบับละ 500 บาท
2. ใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืน กระบอกละ 5 บาท
3. ใบอนุญาตให้พกพาอาวุธปืน ฉบับละ 1,000 บาท
ผู้ซื้อยื่นแบบคำขอ ป.1 ระบุสเปกของอาวุธปืนที่ต้องการจะซื้อ พร้อมเอกสารสำคัญข้างต้นแก่เจ้าหน้าที่ที่ว่าการอำเภอ พร้อมพิมพ์ลายนิ้วมือและตรวจสอบประวัติ ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน ถ้าผ่านการตรวจสอบประวัติ อำเภอจะออกใบ ป.3 (ใบอนุญาตให้สามารถซื้อหา มีไว้ในครอบครอง พกพา และใช้งานอาวุธปืนได้) โดยผู้ซื้อจะนำใบ ป.3 นี้ไปยังร้านจำหน่ายปืนและเลือกซื้อปืน ก่อนที่จะส่งใบสำคัญนี้กลับไปที่อำเภอ อำเภอจะออกใบคู่มือประจำปืนให้ร้านจำหน่าย ส่งมอบพร้อมกับอาวุธปืนและใบแทนระหว่างที่รอใบ ป.4 (ทะเบียนปืนที่แสดงความเป็นเจ้าของปืน) ก่อนที่จะได้รับเอกสารให้ไปดำเนินการติดต่อขอรับใบ ป.4 ตัวจริงจากอำเภอในที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก : the standard
แหล่งข้อมูล : https://www.gunsth.com/?p=194
กลับสู่เมนูหลัก : คลิก
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ข่าว
จับทันควัน
ข่าว
ส่อตึงเครียด! เผยคลิปตำรวจชิคาโกยิง ‘เด็ก 13 ขวบ’ เสียชีวิต ทั้งที่เหยื่อ ‘ชูมือ’ ขึ้นเหนือหัว
ข่าว
191 รวบแอดมิน “AP อะไหล่ยนต์” ขายปืนเถื่อนในกลุ่มไลน์ ยึดของกลางเพียบ
ข่าว
2 เฒ่าหัวร้อนขับรถปาดหน้ากัน ก่อนชักปืนยิงดับคารถ