Browning Hi Power อีกหนึ่งสุดยอดปืนพก

Browning Hi Power อีกหนึ่งสุดยอดปืนพก

Browning High Power และ Colt M-1911 มาจากฝีมือการออกแบบของ John Moses Browning เหมือนกัน เพียงแต่โรงงาน FN ในเบลเยี่ยมมีแนวคิดในการให้เกียรติผู้ออกแบบปืนด้วยการนำชื่อของ Browning มาตั้งชื่อปืน FN ตั้งใจว่าจะกอบโกยกำไรได้จาก Browning High Power เสียหน่อย สวรรค์ก็ล่มเสียก่อน สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่สงบไปเมื่อยี่สิบปีก่อนมีทีท่าว่าจะปะทุขึ้นมาอีก เพราะถ้าเยอรมันบุกฝรั่งเศส เบลเยี่ยมต้องแหลก และแน่นอนว่าโรงงาน FN ในเบลเยี่ยมต้องแย่แน่ๆ

และเมื่อสงครามเกิดขึ้น เบลเยี่ยมก็ต้องยอมแพ้ในวันที่ 28 พฤษภาคม ในขณะที่ทหารอังกฤษสามแสนสี่หมื่นคนที่ดันเคริกข้ามช่องแคบกลับไปอังกฤษได้ โดยช่วยเหลือทหารฝรั่งเศสและทหารเบลเยี่ยมอีกหนึ่งแสนสองหมื่นคนพาไปอังกฤษด้วยกัน ซึ่งในจำนวนนี้มีวิศวรกรจากโรงงาน FN ที่มีพิมพ์เขียวปืนทุกแบบของโรงงาน FN ติดกระเป๋าไปด้วย

ในระหว่างที่เยอรมันยึดครองเบลเยี่ยม เจ้าหน้าที่ของบริษัท DWM ในเยอรมันก็ได้มาควบคุมโรงงาน FN ที่เบลเยี่ยม และในระหว่างสงครามได้ผลิตปืน Browning High Power ให้กับกองทัพเยอรมัน 319,000 กระบอก ส่วนวิศวกรของ FN ที่หนีไปอังกฤษก็เริ่มเอาพิมพ์เขียวของปืน Browning High Power ออกมาปรับสัดส่วนต่างๆ ที่ใช้มาคราเมตริกให้เป็นระบบนิ้วเพื่อที่จะใช้ได้กับเครื่องมือของอังกฤษ แต่ก็ผลิตปืนในอังกฤษไม่มากนัก

Project Browning High Power ถูกย้ายไปที่บริษัท จอห์น อิงกลิส (John Inglis Company) ในแคนนาดา และผลิต High Power ออกมาได้ 151,816 กระบอก ปืนส่วนใหญ่ถูกส่งไปให้สาธารณรัฐจีน (จีนก๊กมินตั๋ง) สู้กับญี่ปุ่น ที่เหลือเป็นของอังกฤษ แคนาดา และ ทหารกรีก

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านเขาเลิกรบกันแล้ว แต่ทหารจีนคณะชาติต้องสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน และได้มีทหารจำนวน 2 กองพลถอยเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการเข้ามาแบบมีอาวุธเต็มอัตราทั้งกองพล แถมยังเป็นทหารที่ผ่านการสู้รบมาอย่างโชกโชน แต่การที่ทหารจีนเหล่านี้ไม่มีทีท่าเป็นศัตรูกับประเทศไทย ทำให้ทางการไทยเพียงแต่คุมเชิงเอาไว้ห่างๆ เพราะถ้าเกิดจะเข้าไปปลดอาวุธก็คงจะเสียเลือดเนื้อด้วยกันทั้งสองฝ่าย บวกกับตอนนั้นทหารจีนกับรัฐบาลไทยก็ยังมีคอมมิวนิสเป็นศัตรูร่วมกันอยู่ ก็เลยถือโอกาสผลักดันทหารจีนไปอยู่แถบแนวชายแดนเพื่อใช้เป็นรัฐกันชนเสียเลย

ในระยะหลังที่บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไต้หวันได้มารับทหารจีนส่วนใหญ่กลับไปไต้หวัน แต่ก็มีทหารจีนอีกมากที่ติดใจประเทศไทย และคงมีจำนวนไม่น้อยที่ติดใจ สาวไทย หนุ่มไทย มีการผสมกลมกลืนแต่งงานกันจนกลายเป็นคนไทย และขออยู่ในประเทศไทยต่อไป ต่อมาใน พ.ศ. 2510 และ พ.ศ. 2518 ได้มีการนำเอาปืน Browning High Power ที่ผลิตจากโรงงาน จอห์น อิงกลิส มาขึ้นทะเบียนเป็นจำนวนไม่น้อย

ในปัจจุบัน วงการทหารทั่วโลก ต่างยอมรับกระสุน 9mm เป็นกระสุนขนาดมาตรฐานของกองทัพกันหมดแล้ว กระทั่งสหรัฐฯยังต้องเปลี่ยนปืนขนาด .45 ACP มาใช้ปืนขนาด 9mm เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง เป็นผลทำให้ความนิยมลูกสองแถวหรือปืนลูกดกพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย มีบริษัทปืนสั้นออโต้ฯขึ้นมาก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ทั้งทางด้านพลเรือน และทางด้านทหาร แม้กระทั่งปัจจุบันสายการผลิตก็ยังดำเนินอยู่ ความนิยมก็ยังคงไม่เสื่อมคลาย นักนิยมปืนทั้งหลายคงไม่มีใครไม่รู้จัก ปืน Browning High Power เป็นปืนสั้นออโต้ฯขนาด 9mm พารา ระดับแนวหน้า

ปืน Browning High Power หรือเรียกอีกอย่างว่า Browning P-35 ได้รับการออกแบบโดยบิดาแห่งปืนกึ่งอัตโนมัติ คือ John Moses Browning ซึ่งได้ออกแบบปืนสั้นออโต้ฯ แบบ M-1911 ถือได้ว่าเป็นปืนอมตะกระบอกหนึ่ง Browning ได้ยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรปืนสั้นออโต้ฯ ขนาด 9mm ในปี ค.ศ. 1927 แต่กว่ากองทัพ Belgium จะรับเข้าประจำการ ก็ล่วงเลยไปอีก 8 ปี ในปี ค.ศ. 1935 ด้วยเหตุผลนี้ จึงเป็นที่มาของรหัส  M-35 ตามปีที่เข้าประจำการ

ต่อมาปืน Browning High Power ได้เข้าประจำการในกองทัพหลายต่อหลายประเทศด้วยกัน อาทิ เช่น ในประเทศจีน, แคนาดา, อังกฤษ, เดนมาร์ก ฯลฯ สำหรับในประเทศไทยเราก็ได้มีการนำเอาปืน Browning High Power มาใช้ในหน่วยงานราชการของกองทัพอากาศ ก็เลยมีการเรียกขานชื่อปืนรุ่นนี้ว่า Browning High Power “รุ่นทหารอากาศ” จึงเป็นที่หลายๆคนเสาะแสวงหา เพราะคิดว่าเป็นปืนรุ่นที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษกว่าปืนที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป แท้จริงแล้ว ปืน Browning High Power ที่ผลิตออกมาเพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนหรือที่เข้าประจำการในกองทัพอากาศ คุณภาพไม่แตกต่างกัน ยกเว้นเรื่องรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในบางจุด เช่น มีห่วงเหล็กกลม สำหรับสายกันตก อยู่ตรงด้ามปืนด้านซ้าย และบนสันสไลด์มีตราเครื่องหมายของกองทัพอากาศ อีกจุดนึงที่แตกต่างจากปืนพาณิชย์ก็คือ ด้านหลังของโครงด้ามปืน มีเซาะร่องไว้สำหรับยึดติดกับพานท้ายประทับไหล่ยิง เป็นต้น

ปืน Browning High Power นั้น มีการผลิตอยู่หลายประเทศด้วยกัน แหล่งใหญ่ที่ผลิตอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา การจะดูว่าปืน Browning High Power กระบอกที่เราถืออยู่ในมือผลิตจากโรงงาน F.N. Belgium หรือไม่ ให้ดูที่ปรู๊ฟมาร์คที่ตำแหน่ง 1. โครงปืนข้างโกร่งไกหน้าด้านขวา 2. ลำเลื่อนด้านในใต้เข็มแทงชนวน 3. ลำกล้องตรงส่วนหาง ลักษณะของปรู๊ฟมาร์ค ก็จะมีลักษณะคล้ายรูปไข่ มีดาวอยู่ในวงรีของรูปไข่นั้น และมีมงกุฎครอบทับอีกทีหนึ่ง นั่นคือตราปรู๊ฟมาร์ค ของโรงงาน F.N. Belgium ซึ่งโรงงานที่เป็นสาขาไม่มีตราปรู๊ฟมาร์คนี้

 

แหล่งข้อมูล : gunsth

กลับสู่หน้าหลัก : สนามกีฬายิงปืนหาดใหญ่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *